#activities #content กลุ่มผึ้งชันโรง อักบารฟาร์ม
บ้านป่าระไมออก หมู่ที่ 4 ตำบลขุนตัดหวาย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
- ความเป็นมาของกลุ่ม
เมื่อปีพ.ศ.2562 มีหน่วยงานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จังหวัดสงขลา เข้ามาในหมู่บ้าน จากการที่ทางตำบลได้เลือกให้เป็นตัวแทนหมู่บ้านเพื่อทำโครงการกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จังหวัดสงขลา โดยแบ่งโครงการเป็น 3 โครงการ ตามมติที่ประชุมหนึ่งในนั้นมีโครงการเลี้ยงผึ้งชันโรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการในด้านการสร้างเสริมรายได้ให้กับหมู่บ้าน
หลังจากที่ประชุมลงความเห็นทำโครงการเลี้ยงผึ้งชันโรง โดยที่ทางหมู่บ้านไม่มีความรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการเลี้ยงเลย ผู้นำชุมชนและคณะจึงไปทัศนศึกษาดูงานที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ทางผู้นำเล็งเห็นว่าการเลี้ยงของอำเภอเทพาเป็นการเลี้ยงที่สามารถนำมาเป็นต้นแบบให้กับทางหมู่บ้านได้ เนื่องจากมีทำเลและความเป็นอยู่ที่คล้ายคลึงกับทางหมู่บ้านมากที่สุด น่าจะไม่ปัญหาในการเลี้ยง หลังจากนั้นได้ไปศึกษาดูงานที่ตำบลสะกอม อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาอีกครั้ง และมีความคิดเห็นว่าควรซื้อกระท่อมสร้างเป็นที่อยู่ไปให้ทางกลุ่มตำบลสะกอมช่วยเลี้ยง เพื่อนำตัวผึ้งที่ได้มากลับมาเลี้ยงในพื้นที่ จึงนำมาสู่การก่อตั้งกลุ่มผึ้งชันโรงอักบารฟาร์ม ณ บ้านป่าระไมออก หมู่ที่ 4 ตำบลขุนตัดหวาย อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จนถึงปัจจุบัน
- วรรณะของชันโรง
1. นางพญา มีขนาดใหญ่กว่าวรรณะอื่นๆ มีหน้าที่ออกไข่เพื่อเพิ่มประชากรในรังให้มากที่สุด ถ้าหากรังขาดนางพญาการทำงานจะไม่มีระบบ มีอายุได้ 2-3 ปี
2. ชันโรงเพศผู้ มีขนาดเล็กกว่าชันโรงงาน และมีปริมาณน้อย มีหน้าที่คุ้มกันหน้าพญาและผสมพันธุ์กับนางพญาเพื่อขยายพันธุ์ เมื่อผสมพันธุ์กับนางพญาเสร็จก็จะตาย
3. ชันโรงงานซึ่งเป็นผึ้งเพศเมียที่เป็นหมัน เป็นวรรณะที่มีประชากรมากที่สุดในรัง มีขนาดเล็กว่านางพญา มีหน้าที่ทำงานอย่างเดียว ชันโรงงานที่มีอายุน้อยจะทำงานอยู่ภายในรัง โดยทำหน้าที่ทำความสะอาดรัง สร้างและซ่อมแซมรัง เลี้ยงตัวหนอน ส่วนที่มีอายุมากจะออกทำงานโดยการบินออกไปเก็บน้ำหวาน เกสร และยางไม้ และคาบเศษขยะออกมาทิ้งนอกรัง จะบินออกหาอาหารได้ไม่เกิน 300 เมตร มีอายุประมาณ 200 วัน
- การจัดการรัง
1. บริเวณที่ตั้งควรมีพืชอาหารเพียงพอ และสมดุลกันกับปริมาณของชันโรง
2. วางรังชันโรงให้กระจายครอบคลุมพื้นที่ เพื่อประสิทธิภาพในการหาอาหารและผสมเกสร
3. ควรตรวจสภาพรังอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจดูปริมาณการเจริญเติบโต สภาพความสมบูรณ์ของอาหารและศัตรูของชันโรง กรณีถ้าอาหารไม่เพียงพอต้องเคลื่อนย้ายไปในที่ที่เหมาะสม
- ประโยชน์จากชันโรง
การใช้ประโยชน์จากชันโรงนอกจากการผสมเกสรแล้ว ผลผลิตจากชันโรงที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แก่ น้ำผึ้งและชัน โดยน้ำผึ้งที่ได้จากชันโรงจะมีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งพันธุ์เพราะเชื่อว่าน้ำผึ้งที่ได้จากชันโรงมีสรรพคุณทางยา ส่วนชัน (propolis) เป็นส่วนของยางไม้ที่ชันโรงเก็บมาจากต้นพืชนำมารวมกับไขผึ้งที่ผลิตขึ้นภายในลำตัวของชันโรง องค์ประกอบส่วนใหญ่ของชันเป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อโรคและเพิ่มภูมิคุ้มกัน จากเดิมมีการนำชันมาใช้ในการยาเรือ อุดภาชนะ อุดฐานพระ ปัจจุบันมีการนำชันมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เครื่องสำอาง โดยใช้สรรพคุณของชันในการแก้อักเสบของผิวหนัง รักษาการติดเชื้อในช่องปาก รักษาเหงือกอักเสบ

สนใจผลิตภัณฑ์ติดต่อ เบอร์โทร.......................................นายมนูญ บูเส็น ประธานกลุ่มผึ้งชันโรงฯ
ติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่เพจ น้ำผึ้งชันโรงแท้ 100 % #สภาสันติสุขตำบล และ #ตำบลขุนตัดหวาย

เพิ่ม Says ในหน้าจอหลัก