#input #ข้อมูลทั่วไปของพื้นที่ตำบลวังประจัน
#ที่ตั้ง
วังประจัน เดิมชื่อว่า “วังปลาจัน” เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็นบ้าน “วังประจัน” ในสมัยที่ นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล (พ.ศ. 2515-2518) คำว่า “วัง” หมายถึง หุบเขาหรือแอ่งน้ำลึก “ปลาจัน” มาจากคำภาษายาวี หมายถึง กะปิ เนื่องจากมีก้อนหินลักษณะเหมือนก้อนกะปิเป็นจำนวนมาก อยู่ในลำคลองปัจจุบัน คือ คลองทุ่น ส่วนที่เปลี่ยนชื่อเป็น วังประจันก็เนื่องจากตำบลนี้เป็นเขตแดนติดต่อกับมาเลเซีย และมีถนนเชื่อมติดต่อกับบ้านวังเกลียน ของมาเลเซีย ตำบลนี้จึงเป็นเหมือนด่านประจันหน้ากับมาเลเซีย ราษฎรในตำบลนี้จึงเหมือนกับมาเลเซียด่านแรก ราษฎรในตำบลวังประจันบางส่วนอพยพมาจากประเทศมาเลเซีย และตำบลควนสตอ ตำบลควนโดน เพื่อเข้าไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม เห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม มีความอุดมสมบูรณ์ ในการทำสวนผลไม้ สวนยาง และการทำนา วังประจันเดิมเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตตำบลควนสตอ ต่อมาได้แยกการปกครองจากตำบลควนสตอ เป็นตำบลวังประจัน เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2535 แบ่งการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้าน มีนายสมัย ละไบแด เป็นกำนันคนแรก ความเป็นมาของแต่ละหมู่บ้าน มีดังนี้
หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งมะปรัง มีทุ่งเล็ก ๆ อยู่ในหมู่บ้านเนื้อที่ประมาณ 1 งาน กลางทุ่งเล่ากันว่า มีบ่อน้ำคล้ายปลัก เนื้อที่ประมาณ 55 เมตร เกิดขึ้นกลางทุ่ง มีผู้เห็นคล้ายลิงผุดขึ้นมาสภาพคล้ายคนอยู่ประมาณ 4 – 5 นาทีแล้วหายไป จากนั้นมีผู้คนไปเซ่นสังเวย ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการแสดงอาเพศ ใครไปสร้างความไม่ดี หรือสิ่งสกปรกต่าง ๆ จะมีอาการปวดท้อง จุกเสียด เป็นไข้ หากถูกอาถรรพ์นี้ ต้องไปบอกกล่าว ขออภัยแล้วอาการจะหาย ชาวบ้านเชื่อถือมาตลอดหลายสิบปี จนถึงบัดนี้ชาวบ้านเลิกเชื่อถือ และขณะนี้ปลักได้ตื้นเขินหมดแล้ว มะปรัง มาจาก ชื่อโต๊ะปรัง ซึ่งชาวบ้านทั่วไปนับถือ
หมู่ที่ 2 บ้านเขานุ้ย ได้แยกมาจากหมู่ที่ 3 บ้านวังประจัน มาเป็นหมู่ที่ 2 บ้านเขานุ้ย เมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่อจะแบ่งแยกการปกครองให้ดีขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน
หมู่ที่ 3 บ้านวังประจัน หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีชาวมลายู หรือมาเลเซียในปัจจุบัน จากบ้านวังเกลียนรัฐเปอร์ลิส อพยพมาอยู่ที่บริเวณ บังทะเลบัน ต่อมาบริเวณนั้นแผ่นดินยุบตัวลง ก็เลยย้ายมาตั้งหมู่บ้านใหม่ที่บ้านวังประจัน ผู้ที่อพยพมานั้นมี 3 ตระกูล คือ ตระกูลละใบโดย เป็นตระกูลผู้พี่ ตระกูลละใบแด เป็นตระกูลรอง ตระกูลละใบจิ เป็นตระกูลน้องเล็ก ทั้ง 3 ตระกูล เป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้านวังประจัน ส่วนตระกูลอื่น ๆ นั้น ได้เข้ามาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว เดิมเป็นหมู่ที่ 11 ตำบลวังสตอ แยกมาเป็น ตำบลวังประจัน เมื่อปี พ.ศ. 2515 ปัจจุบันเป็นหมู่ที่ 3 ตำบลวังประจัน
หมู่ที่ 4 บ้านวังประจันใต้ บ้านวังประจันใต้ แยกจากบ้านวังประจัน ตำบลควนสตอ เป็นหมู่ที่ 12 และต่อมาได้แยกมาเป็นตำบลวังประจัน จากตำบลควนสตอ ปี พ.ศ. 2532 ได้แยกเมื่อปี พ.ศ. 2532 และได้แยกหมู่ที่ 3 บ้านวังประจันออกเป็น หมู่ที่ 4 บ้านวังประจันใต้ ตำบลวังประจัน
#ที่ตั้งของตำบล
ตำบลวังประจัน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 บ้านวังประจัน ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ตั้งอยู่ทางทิศตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของที่ว่าการอำเภอ ควนโดน การเดินทางตามถนนทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4184 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ระยะทางห่างจากจังหวัดสตูลประมาณ 38 กิโลเมตร
#เนื้อที่อาณาเขต ตำบลวังประจัน มีพื้นที่ 100.5 ตร.กม. หรือ 62,812.50 ไร่อยู่ในเขตความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลวังประจัน และมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียงดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลทุ่งหมอ และตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา
ทิศใต้ ติดต่อกับ รัฐเปอร์ลิส ประเทศมาเลเซียและตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลเกตรี อำเภอเมือง ตำบลควนสตอ และตำบลควนโดน อำเภอควนโดน
จังหวัดสตูล
#ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลวังประจัน มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเชิงเขา ล้อมรอบด้วยเทือกเขาต่าง ๆ ทางทิศ ตะวันตกมีเขาคันติง ด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ มีเทือกเขาสันกาลาคีรีกั้น เป็นพรมแดนไทย – มาเลเซีย เทือกเขาเหล่านี้เป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำสายต่าง ๆ มากมาย ที่ไหลลงมารวมกัน เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตชาว อำเภอควนโดนและอำเภอเมืองสตูล
#ลักษณะภูมิอากาศ
มีลักษณะอากาศแบบร้อนชื้น ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกชุก จากสภาพพื้นที่ที่เป็นหุบเขา มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้อากาศในตอน กลางวัน รู้สึกสดชื่น โดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติทะเลบัน และน้ำตกต่าง ๆ
#สภาพภูมิอากาศ แบ่งออกเป็น 2 ฤดู คือ
1. ฤดูร้อน มีตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน มีฝนตกบ้างเล็กน้อยจากอิทธิพลปลายมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ
2. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนธันวาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกจากอิทธิพลของ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ (พ.ค. - ก.ย.) และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ต.ค. - ธ.ค.) บริเวณนี้จะมีน้ำตกสวยงาม เช่น น้ำตกยาโรย น้ำตกโตนปลิว น้ำตกจิ้งหรีด เป็นต้น
#ลักษณะของแหล่งน้ำ
แหล่งน้ำธรรมชาติ
ในพื้นที่ตำบลวังประจัน มีแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 9 สาย ประกอบด้วย
- คลองหัก ไหลผ่านหมู่ที่ 1 บ้านทุ่งมะปรัง
- คลองมาเลา ไหลผ่านหมู่ที่ 1 บ้านทุ่งมะปรัง
- คลองใหญ่ ไหลผ่านหมู่ที่ 1 บ้านทุ่งมะปรัง
- ห้วยลึก ไหลผ่านหมู่ที่ 1 บ้านทุ่งมะปรัง
- คลองตูโย๊ะ ไหลผ่านหมู่ที่ 2 บ้านเขานุ้ย
- คลองตำปุ๋ย ไหลผ่านหมู่ที่ 3 บ้านวังประจัน
- คลองเชี่ยว ไหลผ่านหมู่ที่ 3 บ้านวังประจัน
- คลองกลางบ้าน ไหลผ่านหมู่ที่ 1 – 4
- ห้วยจิ้งหรีด ไหลผ่านหมู่ที่ 4 บ้านวังประจัน
#การเมืองการปกครอง
หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งมะปรัง นายมาแอน ปานกลาย ผู้ใหญ่บ้าน
หมู่ที่ 2 บ้านเขานุ้ย นายอับดุลรอหมาน นาปาเลน ผู้ใหญ่บ้าน
หมู่ที่ 3 บ้านวังประจัน นายยาวัยหนี บินดอละ ผู้ใหญ่บ้าน
หมู่ที่ 4 บ้านวังประจันใต้ นายเรวัฒน์ บูอีตำ กำนัน

#สภาสันติสุขตำบล #ตำบลวังประจัน