10 เทคโนโลยีที่น่าจับตามอง ปี 2024

ผลการจัดอันดับล่าสุด
กล้ามเนื้อเทียม (Artificial Muscle) Profile Picture
1
กล้ามเนื้อเทียม (Artificial Muscle)
0 คะแนนโหวต

การส่งเสริมสุขภาพด้วยอุปกรณ์เสริม เช่น อุปกรณ์จากเทคโนโลยีกล้ามเนื้อเทียมจึงมีประโยชน์มาก ใช้เป็นอุปกรณ์ชีวการแพทย์หรืออุปกรณ์เสริมการเคลื่อนไหวจำพวก exoskeleton ช่วยให้เดินขึ้นลงบันไดได้ดีขึ้น หรือทำให้คนงานส่งของยกน้ำหนักของได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังประยุกต์ใช้สร้างหุ่นยนต์จำพวก soft robot ที่มีรูปแบบการเคลื่อนที่จำเพาะ ใช้ในภารกิจกู้ภัยได้ เป็นต้น กล้ามเนื้อเทียมหรือกล้ามเนื้อจำลอง (artificial muscle) คือ วัสดุหรืออุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเลียนแบบการทำงานของกล้ามเนื้อจริงตามธรรมชาติ มีลักษณะสำคัญคือ ยืด หด ขยายหรือหมุนได้ เมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า (stimuli) ไม่ว่าเป็นกระแสไฟฟ้า ความดัน หรืออุณหภูมิ ฯลฯ อาจแบ่งกล้ามเนื้อเทียมได้เป็นหลายประเภทตามกลไกการทำงานและวัสดุ อาทิ ชนิดที่ใช้พอลิเมอร์และไอออนหรือไฟฟ้า

จุลชีพในลำไส้เพื่อดูแลสุขภาพ (Human Gut Microbes for Healthcare) Profile Picture
2
จุลชีพในลำไส้เพื่อดูแลสุขภาพ (Human Gut Microbes for Healthcare)
0 คะแนนโหวต

ในอนาคตอันใกล้อาจมีการใช้เชื้อที่ผ่านการวิศวกรรม จนได้คุณสมบัติแปลกใหม่เพิ่มเติมหรือดีกว่าเดิม นอกจากการเป็นอาหารเสริมสุขภาพ จุลินทรีย์ใหม่นี้อาจช่วยเฝ้าระวังหรือรักษาโรคอย่างเฉพาะเจาะจงได้อีกด้วย ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ดังกล่าวอาจสร้างขึ้นได้โดยอาศัยความรู้ที่เรียกว่า ชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ซึ่งใช้หลักการทางวิศวกรรมชีวเคมีในการออกแบบและสร้างระบบชีวภาพ จนได้เป็น “วงจรยีน (gene circuit)” ในเซลล์ซึ่งเปิด-ปิดการทำงานของยีนบางอย่างได้อย่างจำเพาะ โดยอาศัยการตอบสนองสัญญาณหรือตัวกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม ทำให้แจ้งเตือนการเกิดโรค หรือย่อยสลายสารพิษ หรือรักษาโรคได้อีกด้วย เราอาจออกแบบวงจรยีนทำให้เซลล์ตรวจสอบสารแปลกปลอม เช่น miRNA, ชิ้นส่วนที่มีความจำเพาะกับเนื้องอก, biomarker ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โปรตีน เพปไทด์ สารเมแทบอไลต์ และทำให้เซลล์ตอบสนองหรือมีฟังก์ชันในลักษณะต่าง ๆ เช่น เมื่อเซลล์เจอเนื้องอกแล้วทำให้เซลล์ตายไปพร้อมกับเนื้องอก ทำให้ยาออกฤทธิ์จำเพาะที่ หรือทำให้เกิดการปล่อยสารบางอย่างเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

แฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ (Digital Twin in Healthcare) Profile Picture
3
แฝดดิจิทัลในการดูแลสุขภาพ (Digital Twin in Healthcare)
0 คะแนนโหวต

ปัจจุบันนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลของเราแต่ละคน ถูกบันทึกเก็บไว้ด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะสวมใส่ได้หรือพกพาได้ชนิดต่าง ๆ ที่มีเซนเซอร์ติดไว้ อาทิ สมาร์ตวอตช์หรือสมาร์ตโฟน ข้อมูลที่สัมพันธ์กับช่วงเวลา สภาพร่างกาย และตำแหน่งบนโลก กลายเป็น “ฐานข้อมูลดิจิทัล” โดยเก็บค่าที่วัดได้อย่างต่อเนื่องไว้ตามฐานข้อมูลออนไลน์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลประวัติการรักษาต่าง ๆ เช่น ผลการตรวจเลือดและภาพถ่ายทางการแพทย์อีกด้วย หากดึงข้อมูลเหล่านี้ทั้งในอดีตและปัจจุบันมาวิเคราะห์ได้ ก็จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคได้ดีขึ้น และจำลองผลการรักษาที่มีต่อการทำงานของอวัยวะหรือร่างกายได้ระดับหนึ่ง รวมไปถึงพยากรณ์โรคได้ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ด้วย

การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเอไอเสริม (AI-Augmented Software Development) Profile Picture
4
การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเอไอเสริม (AI-Augmented Software Development)
0 คะแนนโหวต

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกตื่นเต้นและแม้แต่ตกใจไปกับความสามารถของ generative AI ในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม สร้างภาพขึ้นตามคำสั่งหรือ prompt ที่ใช้เพียงวลีหรือประโยคง่าย ๆ การพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่ผ่านมาเป็นฝีมือของมนุษย์ทั้งสิ้น แต่ความก้าวหน้าของ generative AI และ Machine Learning (ML) เปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถนำ AI มาใช้ในกระบวนการออกแบบ สร้าง ทดสอบ รวมไปถึงการวางตลาดแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วมากขึ้นและด้วยกระบวนการที่ง่ายขึ้น น่าจะถือได้ว่า AI เป็น software development tools ที่สำคัญแบบหนึ่งในอนาคตอันใกล้ AI จะเข้ามาช่วยการสร้างและแปลโค้ดต่าง ๆ โดยเฉพาะโค้ดรูปแบบดั้งเดิมให้ใช้ได้กับภาษาสมัยใหม่ รวมไปถึงการแปลงภาษาธรรมชาติอย่างภาษาพูดของคนให้กลายเป็นโค้ดได้อย่างรวดเร็ว

เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ติดเอไอ (AI Wearable Technology) Profile Picture
5
เทคโนโลยีอุปกรณ์สวมใส่ติดเอไอ (AI Wearable Technology)
0 คะแนนโหวต

ตลาดผลิตภัณฑ์ AI Wearable Devices ทั่วโลกในปี 2022 มีมูลค่าเกือบ 8 แสนล้านบาท และคาดว่าช่วงปี 2023-2030 จะขยายตัวราว 30% สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันคนไทยใส่สมาร์ตวอตช์ราว 19% หรือเกือบ 1 ใน 5 และตลาดในประเทศเติบโตราว 23% ต่อปี ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น smart phone 5G, Internet of Things (IoT), AI ที่สอดรับกับการใช้งาน AI Wearable Devices ประกอบกับกระแสการใส่ใจสุขภาพและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การเชื่อมต่อและเก็บข้อมูลเพื่อวัดค่าต่าง ๆ ที่ปัจจุบันยังทำผ่านสมาร์ตวอตช์เป็นหลัก ในอนาคตอันใกล้จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นแว่นตาอัจฉริยะ รองเท้าอัจฉริยะ เสื้ออัจฉริยะ แหวนอัจฉริยะ แจ็กเก็ตอัจฉริยะ และแม้แต่พวงกุญแจอัจฉริยะ ที่ช่วยเรื่องการชำระเงิน ทำธุรกรรม หรือช่วยตัดสินใจ จี้ห้อยคอ AI อาจช่วยจดประชุม สรุปประเด็น ร่างอีเมล จดจำนัดหมาย แจ้งเตือน เสมือนเป็นเลขาส่วนตัวอยู่ข้างกาย

เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhancing Technologies : PETs) Profile Picture
6
เทคโนโลยีคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Privacy-Enhancing Technologies : PETs)
0 คะแนนโหวต

เทคโนโลยีแบบใหม่คือ PETs ช่วยคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ผ่านการเข้ารหัสแบบใหม่ที่ทำให้ข้อมูลประมวลผลบนคลาวด์ได้ “โดยไม่ต้องถอดรหัส” ดังนั้นระบบคลาวด์เองจึงไม่สามารถเข้าถึงเนื้อหาข้อมูลที่กำลังประมวลผลอยู่เลย มีแต่เจ้าของข้อมูลที่มีกุญแจถอดรหัสเท่านั้นที่จะเข้าถึงเนื้อหาข้อมูลได้ เทคโนโลยีนี้จึงปิดช่องโหว่การรั่วไหลของ¬ข้อมูลได้มากขึ้น แม้แต่กรณีคลาวด์โดนแฮ็กก็ตาม มีการนำเทคโนโลยี PETs มาให้บริการแล้วในวงการการเงิน สุขภาพ และทรัพยากรบุคคล เช่น บริษัท EN|VIEL, Tripple-Blind และ Inpher ในสหรัฐอเมริกา บริษัท ZAMA มีการนำเอาเทคโนโลยี PETs มาใช้ในการระบุตัวตนแบบ biometric authentication และทำ confidential trading อีกด้วย ขณะที่บริษัท RAVEL ในประเทศฝรั่งเศสก็นำเอาระบบนี้ไปใช้ให้บริการโฆษณาส่วนบุคคล เป็นต้น

หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย (Security Robot) Profile Picture
7
หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย (Security Robot)
0 คะแนนโหวต

คุณลักษณะเด่นของการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการรักษาความปลอดภัยมีหลายด้าน ได้แก่ ความสามารถในการทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานโดยไม่อ่อนล้าหรือหย่อนประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์ภาพและพฤติกรรม สามารถแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการเกิดเหตุความไม่ปลอดภัยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนี้แล้ว หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยยังสามารถทำงานได้ในพื้นที่หรือสภาวะแวดล้อมที่หลากหลาย ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ระบบนำทางอัตโนมัติจะทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้อย่างทั่วถึงทุกบริเวณ ขณะที่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปกับหุ่นยนต์จำพวกนี้ในระยะยาวจะน้อยกว่าค่าใช้จ่ายสำหรับการจ้างฝ่ายรักษาความปลอดภัยที่เป็นมนุษย์ และไม่ต้องกังวลใจเรื่องความเชื่อใจได้ของ รปภ. ที่เป็นมนุษย์อีกด้วย ปัจจุบันเริ่มมีการใช้งานหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยแล้วในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง (Direct Battery Recycling Technology) Profile Picture
8
เทคโนโลยีรีไซเคิลแบตเตอรี่แบบโดยตรง (Direct Battery Recycling Technology)
0 คะแนนโหวต

การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำทำให้มีความต้องการแบตเตอรี่ โดยเฉพาะแบบลิเทียมไอออน เพราะมีการใช้กับยานยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีความจุพลังงานจำเพาะสูง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานคุ้มค่า และยังมีแนวโน้มราคาที่ลดลงอีกด้วยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีอัตราความต้องการแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเติบโตมากกว่า 25% ต่อปี โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในปี 2030 ประเทศไทยเองก็มีอัตราการเติบโตของการใช้ EV สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยปี 2023 มียอดจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าสูงถึงสัดส่วนร้อยละ 12% ของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขายใหม่ทั้งประเทศ จึงเกิดความต้องการเทคโนโลยีรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพสูง

ไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน (H2 for Mobility) Profile Picture
9
ไฮโดรเจนเพื่อการขับเคลื่อน (H2 for Mobility)
0 คะแนนโหวต

รถยนต์ปัจจุบันกำลังค่อยเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปภายในไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ฟากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นบางรายก็ลงทุนวิจัยมหาศาลไปรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน เพราะคาดกันว่าพลังงานจากไฮโดรเจนจะเป็นอีกตัวเลือกของพลังงานอนาคตได้เช่นกัน มีคนจำนวนมากคาดหวังว่าพลังงานไฮโดรเจนจะมาเป็นตัวปิดช่องว่าง 20% ของ Net Zero ของภาคการขนส่งขนาดใหญ่ และการป้อนไฟฟ้าให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ประเทศไทยนั้นมีความพร้อมอยู่พอสมควร มีร่างกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานไฮโดรเจนแล้ว และมีศักยภาพในการผลิตไบโอไฮโดรเจน (biohydrogen) จากพื้นฐานความเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีสารตั้งต้นจากก๊าซมีเทนในมูลสัตว์หรือชีวมวลต่าง ๆ ที่จัดเป็นกรีนไฮโดรเจน (green hydrogen) แบบหนึ่ง ซึ่งอาจนำมาผ่านกระบวนการทางเคมีต่าง ๆ จนได้ผลิตภัณฑ์เป็นไฮโดรเจนออกมาในที่สุด

ยุคถัดไปของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ Profile Picture
10
ยุคถัดไปของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
0 คะแนนโหวต

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่าแสนล้านบาทต่อปี แต่การเพาะเลี้ยงด้วยวิธีการดั้งเดิม เช่น การเลี้ยงในบ่อดิน การเลี้ยงในกระชัง มีข้อเสียหลายประการ ทั้งใช้น้ำมากและสร้างมลพิษทางน้ำ เสี่ยงต่อการเกิดโรคสัตว์น้ำ เสี่ยงต่อสวัสดิภาพของสัตว์น้ำ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี RAS เป็นการเลี้ยงแบบใช้น้ำหมุนเวียน โดยมีการบำบัดของเสียออกจากน้ำและเติมออกซิเจนให้น้ำ มีข้อดีคือไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ สามารถเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างหนาแน่นในพื้นที่น้อย ควบคุมสภาวะการเลี้ยงและมีการติดตามปัจจัยต่าง ๆ ได้ดีกว่าวิธีการแบบเดิม จึงลดความเสี่ยงจากโรคสัตว์น้ำได้มาก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาเทคโนโลยี RAS มักใช้ในวงจำกัดเพื่อการเลี้ยงสัตว์น้ำมูลค่าสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ฯลฯ เนื่องจากคุ้มทุนได้ง่าย เพราะการเลี้ยงระบบ RAS ต้องอาศัยการลงทุนที่สูงกว่าการเลี้ยงแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังต้องการการดูแลควบคุมระบบการเลี้ยงอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

เพิ่ม Says ในหน้าจอหลัก