20 สิงหาคม 2566 ณ บ้านทุ่งดุกหมู่ที่ 1 ต.ท่าประดู่ อ.นาทวี จ.สงขลา

กิจกรรม อาซูรอสัมพันธ์ ของมัสยิดนูรุดเตาฟิกฮฺ
การกวนข้าวอาซูรอ (ขนมอาซูรอ) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า อาซูรอ เป็นภาษาอาหรับ แปลว่า การผสม การรวมกัน คือการนำสิ่งของที่รับประทานได้หลายสิ่งหลายอย่างมากวนรวมกัน มีทั้งชนิดคาวและหวาน การกวนข้าวอาซูรอเริ่มด้วยการที่เจ้าภาพประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ชาวบ้านทราบว่าจะมีการกวนข้าวอาซูรอกันที่ไหน เมื่อใด เมื่อถึงกำหนดนัดหมายชาวบ้านก็จะนำอาหารดิบ เช่น เผือกมัน ฟักทอง มะละกอ กล้วย ข้าวสาร ถั่ว เป็นต้น มารวมเข้าด้วยกันแล้วปอกหั่น ตัดให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นนำเครื่องปรุง เช่น ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผักชี ยี่หร่า เกลือ น้ำตาล กะทิ เป็นต้น มาเป็นเครื่องผสมโดยหั่นตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เช่นเดียวกัน สำหรับกะทิจะคั้นเฉพาะน้ำมาผสมวิธีกวน นำกะทะใบใหญ่ตั้งไฟ มีไม้พายสำหรับคนขนมอาซูรอ หลังจากตั้งกะทะบนเตา คั้นน้ำกะทิใส่ลงไป ตำหรือบดเครื่องแกงหยาบ ๆ ใส่ลงในน้ำกะทิ เมื่อกะทิเดือดใส่อาหารดิบต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว คนด้วยไม้พายจนกระทั่งทุกอย่างเปื่อยยุ่ย กวนต่อไปจนเป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อสุกได้ที่แล้วก็จะตักใส่ถาด บางคนนิยมรับประทานอาซูรอแบบร้อนๆ ข้นๆ แต่เพื่อเป็นการถนอมอาหารก็จะนิยมรับประทานแบบตั้งทิ้งไว้ให้แห้งเพื่อให้อาซูรอจับตัวเป็นก้อนนำใส่ตู้เย็นก็จะสามารถเก็บไว้รับประทานได้หลายวัน และเมื่อผ่านขั้นตอนการกวนเสร็จแล้ว บางรายโรยหน้าด้วยไข่เจียวหั่นฝอย ไข่ต้ม หรือใช้มะพร้าวคั่วข้าวคั่วบดให้ละเอียด พร้อมด้วยงาคั่วโรยหน้า ก็ช่วยเพิ่มรสชาติความหอมอร่อยได้อีกแบบ เมื่อกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้น ก่อนการแจกจ่ายให้คนในชุมชนได้รับประทานกันนั้น เจ้าภาพจะเชิญบุคคลที่นับถือของชุมชน(โต๊ะอีหม่าม)ขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอาอฺ) กันก่อน จึงจะแจกให้คนทั่วไปได้รับประทานกัน ซึ่งแต่ละครัวเรือนก็ได้มีการเตรียมภาชนะไว้สำหรับใส่อาซูรอเพื่อนำไปฝากลูกหลานที่บ้านต่อไป



การกวนนั้นจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมง และห้ามหยุดกวนโดยเด็ดขาดจนกว่าจะได้ที่ และนี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมต้องใช้คนเยอะ ตั้งแต่การเตรียมการ การสลับกันกวนเพราะใช้เวลาเยอะพอสมควรกว่าจะเสร็จทุกกระบวนการ ถึงแม้การกวนอาซูรอจะเป็นประเพณีของชาวไทยมุสลิม แต่ถ้าหากผู้ที่นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอื่นๆจะเข้ามาร่วมงานด้วยก็ไม่ผิดแต่อย่างใด เพราะการกวนอาซูรอแต่ละครั้งนั้นต้องใช้คนจำนวนหลายคนมาช่วยกันกวนในกระทะใบใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะจะได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลให้มีความใกล้ชิด และมีความสามัคคีรักใคร่กันมากขึ้น อันจะนำไปสู่การลดความขัดแย้งของคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป
รายงานโดย บัณฑิตอาสาบ้านท่าประดู่ หมู่ที่ 1 ต.ท่าประดู่ อ.นาทวี .จ.สงขลา

image
image
image
image
image

เพิ่ม Says ในหน้าจอหลัก